Statistics Statistics
15714
Online User Online1
Today Today1
Yesterday Yesterday6
ThisMonth This Month109
LastMonth Last Month226
ThisYear This Year729
LastYear Last Year2,748

อ่านปากไก่และใบเรือ อ่านสังคมไทยอ่านใจนักอ่าน

อาจารย์วรากรณ์ พูลสวัสดิ์

 

                เมื่อไม่นานมานี้มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมเป็นอย่างมาก หนังสือเล่มนี้ชื่อ ปากไก่และใบเรือ เขียนโดยนิธิ  เอียวศรีวงศ์ ผมแปลกใจตัวเองมากว่าเหตุใดทั้งๆ ที่ผมเคยเห็นหนังสือเล่มนี้มาแล้วเป็นเวลายาวนาน สิบกว่าปีที่แล้วผมเคยเห็นหนังสือเล่มนี้วางขายอยู่ที่ร้านหนังสือนายอินทร์ท่าพระจันทร์ สถานที่ผักผ่อนหย่อนใจและประเทืองปัญญาของผม ผมเคยหยิบดูเปิดพลิกไปพลิกมาแต่ก็ไม่เคยสนใจที่จะเรียกหาซื้ออ่าน ผมเห็นเพื่อนคนหนึ่งเคยนั่งอ่านแต่ก็ไม่เคยสนใจถามไถ่เนื้อความ อาจด้วยเป็นเพราะชื่อหนังสือ ปากไก่และใบเรือ ไม่ได้สะท้อนความหมายและเรียกร้องความสนใจอย่างจริงจัง อีกทั้งชื่อเรื่องก็ไม่สื่อว่าเนื้อหานั้นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร หากแต่ทว่าการออกแบบปกของหนังสือเล่มนี้สวยมาก ในครั้งนั้นถ้าผมสนใจสักนิดเพ่งพินิจเข้าไปในหน้าปกหนังสือจะพบอักษรตัวเล็กๆหนึ่งบรรทัดบ่งบอกเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้  “ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์-วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์”  แต่ก็ไม่ได้บอกความโดดเด่น เยี่ยมยอดอะไรของหนังสือเล่มนี้เลย ดังภาพด้านล่างนี้

คำชื่นชมยกย่อง

                ผมมาสนใจหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังและกระหายใคร่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร พูดถึงเรืองอะไรกัน ถึงได้มีคนกลุ่มหนึ่งชื่นชมยกย่องอย่างยิ่ง เมื่อวันหนึ่งผมได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเจอบทความของอาจารย์เกษียร  เตชะพีระ เรื่อง  “อ่านปากไก่ใบเรือท่ามกลางสงครามความเป็นไทย” ซึ่งเป็นบทความที่อาจารย์เกษียรนำมาจากปาฐกถานำในงานสัมมนาวิชาการเปิดตัวหนังสือปากไก่และใบเรือ เมื่อวันที่ 14  ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นการพิมพ์ใหม่ครั้งที่ 4 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หลังจากหนังสือเล่มนี้ห่างหายวายจากตลาดไปยาวนาน ดังภาพด้านล่างนี้

                 หลังจากอ่านบทความชื่นชมอย่างยิ่งต่อหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมจึงค้นหาความรู้เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้จากอินเตอร์เน็ตและแล้วผมก็พบการประชาสัมพันธ์โครงการสัมมนาทางวิชาการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้โดยที่ภาควิชาประวัติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด ตั้งชื่อโครงการว่าสัมมนาวิชาการเปิดตัวหนังสือ ปากไก่และใบเรื่อ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งในการเขียนโครงการนั้นมีคำยกย่องชื่นชมต่อหนังสือเล่มนี้ไว้ในหลักการและเหตุผลว่า

                “หนังสือ ปากไก่และใบเรือ รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์  ของศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2527 ประกอบด้วยบทความ 5 บทความ  และพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกในเวลาต่อมา  นับได้ว่าเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของการนำวรรณกรรมเข้ามาใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ ทำให้สามารถอธิบายประวัติศาสตร์ไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิปัญญาได้อย่างกว้างขวางรอบด้านและลึกซึ้งขึ้น เป็นแบบอย่างและแนวทางให้การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและวงวิชาการไทยศึกษา

คริส เบเคอร์ นักวิชาการด้านไทยศึกษา ได้กล่าวใน “คำตาม” หนังสือ ปากไก่และใบเรือ  ฉบับพิมพ์ภาษาอังกฤษ   Pen and Sail: Literature and History in Early Bangkok ว่า หนังสือเล่มนี้ “ได้สถาปนาให้นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีงานสร้างสรรค์ และได้รับการยอมรับมากที่สุดในนักประวัติศาสตร์รุ่นเดียวกัน” ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้ได้พลิกมุมมองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่เพียงแต่ช่วงเวลาในการศึกษาของหนังสือเล่มนี้เท่านั้น แต่วิธีวิทยาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ได้เป็นการเปิดมุมองในการศึกษาสังคมไทยในมิติต่าง ๆ ที่มากกว่าประวัติศาสตร์ 

ในโอกาสที่โครงการหนังสือชุดสยามพากษ์ จะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกครั้งใน พ.ศ.  2555 นี้ ภาคประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือโอกาสจัดงานสัมมนาเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าว เพื่อทบทวนวิธีวิทยาการศึกษาประวัติศาสตร์ ตลอดจนคุณูปการที่หนังสือเล่มนี้มีต่อวงวิชาการประวัติศาสตร์และไทยศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมาตราบจนปัจจุบัน”

แค่อ่านโครงการก็กระตุ้นความสนใจผมมากพอแล้ว ผมยิ่งกระหายใคร่รู้ต่อไปว่าจะมีนักวิชาการนักคิดคนอื่นๆชื่นชมยกย่องต่อหนังสือเล่มนี้อย่างไรบ้าง ผมจึงเข้าไปค้นหาในhttp://www.youtube.com/watch?v=Uo6X5JLF0tw ซึ่งเป็นการนำเทปบันทึกการสัมมาวิชาการมาเผยแพร่ไว้ คำชื่นชมแรกที่ผมได้รับคือ ศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านได้กล่าวชื่นชมว่า

“ผมรู้จักและเคารพรักอาจารย์นิธิ และงาน “ปากไก่และใบเรือ” มานาน ฉบับที่ผมมีนั้นตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗...ถือว่าเป็นโอกาสได้อ่านงานดี ๆ อีกครั้ง อย่างจริงจัง และได้กล่าวถึงงานชิ้นนี้ สนองคุณครูพักลักจำ นักประวัติศาสตร์ ปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันทว่า พอยิ่งอ่านใหม่ ก็ยิ่งรู้สึกถึงความกว้างไพศาล และพิสดารล้ำลึกของงานชิ้นนี้ คือกลับมาอ่านใหม่หนนี้เนี่ย ยิ่งช่วยให้เข้าใจชัดขึ้นว่า ทำไมบทความนั้น ที่กลายมาเป็นหนังสือปากไก่และใบเรือ ครอบคลุมองค์ความรู้หลายสาขาวิชามาก กว้างไกลมาก ลึกซึ้งแนบเนียน และแหวกแนวแปลกใหม่มาก เมื่อแรกเสนอ หรือแม้กระทั่งตราบเท่าทุกวันนี้ หาคนที่ command องค์ความรู้เหล่านี้ทั้งหมด และสามารถ comment แบบ knowingly คือรู้ว่าตัวเองกำลังวิจารณ์เรื่องอะไร ในเรื่องทั้งหมดนี้ คงจะยาก

ผมคิดว่าอันแรกเลยคือ ถ้าใช้สำนวนฝรั่งคือ “Making connections” คืออาจารย์นิธิ เชื่อมโยงเกี่ยวร้อย ปริมณฑลของความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ และปริมณฑลของระนาบความรู้ ซึ่งแต่ละสาขา ก็มีขอบเขต มีลักษณะเฉพาะ และมีระดับความเป็นนามธรรม แตกต่างกันมาก คือมันเป็นงานศึกษาที่เกี่ยวกับประวัติวรรณกรรมและวรรณกรรมวิจารณ์ และก็พูดถึงหนังสือหนังหา วรรณคดีต่าง ๆ มันพูดถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง อันนี้ hard facts เลย ของพวกนักเศรษฐศาสตร์ และพวกนักรัฐศาสตร์สนใจกัน และก็พูดถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม ในระนาบประวัติความคิด ในลักษณะสังคมวิทยาของความคิดด้วย คือครอบคลุมสามเรื่องนี้ ......

อันที่สอง ผมคิดว่าอาจารย์นิธิเนี่ยนำหน้า แล้วก็พยายามจะผลักพรมแดนแห่งความรู้ให้เขยิบไป ก็คืออาจารย์ได้แสดงความรู้ที่แนบเนียน พิสดาร ลุ่มลึก นำหน้า แหวกแนว ในแต่ละสาขาวิชาที่เข้าไปค้นคิด คือไม่ใช่โดยรวมเท่านั้น แต่ในแต่ละสาขาวิชา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ความคิด เศรษฐกิจการเมือง ที่อาจารย์เข้าไปเล่นเนี่ย อาจารย์คล้าย ๆ ขยับผลักให้มันคืบหน้าไปด้วย จากที่คนเขารู้ หรือคนเขาศึกษากันอยู่ เช่น ผมขอยกตัวอย่าง ในแง่ประวัติวรรณกรรม และวรรณกรรมวิจารณ์ อาจารย์ชี้อย่างแหลมคม คือเราคิด เอ่อจริงว่ะ “วัดเนี่ยเป็นสถาบันที่เชื่อมต่อมูลนายกับไพร่” “ร่ายเป็นคำประพันธ์ที่เป็นสมบัติร่วมของมูลนายกับไพร่” คือถ้าเราคิดถึงวังกับบ้าน เมื่อสมัยอยุธยามันอยู่ห่างกันเนี่ย site ของการที่คนสองกลุ่มนี้มาพบปะสังสรรค์กัน และแลกเปลี่ยนทางวรรณกรรมและวัฒนธรรมกันคือวัด แล้วออกมาเป็นร่าย คือโอ้ โอเค คมน่ะ คือผมไม่เคยเห็นใครอ่านวรรณกรรมวิจารณ์ออกมา แล้วก็ชี้ขนาดของสถาบันของมันได้อย่างสำคัญขนาดนี้”(เกษียร  เตชะพีระ: ออนไลน์)

คำชื่นชมของดร. ธนพล  ลิ่มอภิชาต ผู้ดำเนินการสัมมนากล่าวว่า “ ปากไก่และใบเรือเป็นหนังสือวิชาการที่ถูกตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 4 ครั้ง จึงเป็นหนังสือไม่ธรรมดา...การที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดพิมพ์อยู่ในสยามพากษ์คล้ายเครื่องหมายแสดงว่าหนังสือชุดนี้ควรอ่านในแวดวงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของไทย มีคุณูปการต่อแวดวงวิชาการไม่เฉพาะในตัวเนื้อหาหรือข้อเสนอแนะเท่านั้นแต่มีพลังที่ดึงดูดให้นักวิชาการหลายแขนงวิชาจากหลายๆฐานของอุดมการณ์ หลายระบบของวิธีวิทยาที่จะร่วมสนทนากับหนังสือเล่มนี้”

คำชื่นชมของรศ.พวงทอง  ภควัครพันธุ์ กล่าวชื่นชมว่า “เป็นหนังสือวิชาการที่อ่านหนักตอนเรียนปริญญา บทหลักที่ใช้คือบทว่าด้วยวัฒนธรรมกระฎุมภีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะ การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงวรรณกรรมกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การอ่านปากไก่ใบเรือทำให้เห็นว่า ทำไมอ่านวรรณคดีของชาติจึงไม่สนุกซาบซึ้ง เพราะงานเหล่านี้ไม่ได้เขียนให้สามัญชนหรือไพร่อยากพวกเราอ่าน แต่ผลิตไว้สำหรับพวกชนชั้นสูงในหมู่พวกเจ้าและขุนนาง”

คำชื่นชมของดร.ชาญวิทย์  เกษตรศิริ กล่าวชื่นชมว่า “อาจารย์นิธิ  เอี่ยวศรีวงศ์ ความที่มีฐานลึกมากๆ ย้อนกลับไปด้วยการดูเอกสารวรรณกรรมทำให้อยากจะเชื่อว่าอาจารย์นิธิสามารถจะกลับไปในอดีตและส่องมาเข้าใจปัจจุบันได้เป็นอย่างดี”

คำวิพากษ์วิจารณ์

                เมื่อได้อ่านและได้ฟังคำชื่นชมยกย่องหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างมากแล้วผมอยากรู้นักว่าหนังสือเล่มนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอย่างไรบ้างซึ่งก็พบว่ามีน้อยคนมากที่ทำการวิจารณ์หนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังตัวอย่างที่พบมีดังนี้

                พิพัฒน์ พสุธารชาติได้ทำการวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ไว้ในบทความชื่อ “อ่านและตั้งคำถามกับปากไก่และใบเรือ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์” ว่า

                “ในบทความ “โลกของนางนพมาศ” อาจารย์นิธิได้กล่าวตอนหนึ่งว่า การรับวิทยาการของตะวันตกในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ทำให้เกิดการสั่นคลอนพื้นฐานอารยธรรมไทยอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดเป็นตรงกันข้าม  อย่างไรก็ตามอาจารย์ เครก เรย์โนลดส์ (Craig Reynolds) และอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม กลับมีความเห็นในทางตรงข้ามว่า ชนชั้นนำของไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เลือกที่จะรับวิทยาการตะวันตกเฉพาะที่พวกเขาเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับตนและไม่ขัดกับความเชื่อดั้งเดิมที่เห็นว่ามีคุณค่า (ที่สำคัญคือความเชื่อทางพุทธศาสนา)

นอกจากนี้อาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถ้าการรับวิทยาการตะวันตกของไทยเป็นอย่างที่อาจารย์นิธิได้ว่าไว้ เหตุใดในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยจึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร  อาจารย์โสรัจจ์ยังมองว่าแม้ในสมัยปัจจุบันระบบความคิดและระบบของถ้อยคำหรือวาทกรรมใน ไตรภูมิ ก็ยังเป็นระบบที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในสังคมไทย แสดงให้เห็นว่าความเชื่อดั้งเดิมของไทยบางอย่างก็ไม่ได้ถูกลบล้างไปด้วยวิทยาการของตะวันตกแต่อย่างไร

ความรู้ที่เป็นจริงจากประสบการณ์

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเชื่อของอาจารย์นิธิเรื่องการสั่นคลอนพื้นฐานอารยธรรมไทยอย่างรุนแรงดังกล่าวเกิดจากความเชื่อตั้งต้นของอาจารย์ที่มองว่าประสบการณ์สามารถให้ความจริงได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่วิทยาการตะวันตกเกิดมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ มันจึงต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้องตามไปด้วย  ในทางตรงกันข้าม ความรู้ของไทยโบราณ (อย่างเช่นจากไตรภูมิ) เป็นความรู้ที่มาจากตำรา ซึ่งไม่ได้มาจากประสบการณ์โดยตรง มันจึงไม่มีความถูกต้อง  เมื่อเป็นเช่นนั้นความรู้ของไทยโบราณจึงไม่มีทางรับมือกับความรู้ที่ถูกต้องจากวิทยาการตะวันตกได้  เมื่อความรู้ทั้งสองมาปะทะกัน ความรู้อย่างในไตรภูมิก็จะต้องถูกทำให้พ่ายแพ้ไปในที่สุด

อย่างไรก็ตามอาจารย์เครกได้วิจารณ์ความเห็นของอาจารย์นิธิตอนหนึ่งว่า

‘ประสบการณ์’ ตามที่คุณใช้ (หมายถึงของอาจารย์นิธิ) ในที่นี้นั้น ที่จริงเป็นเรื่องหลงตัวเองของคนสมัยใหม่ต่างหาก เป็นไปไม่ได้หรอกหรือที่ว่า ‘ประสบการณ์’ หรืออะไรที่ถูกถือว่าเป็น ‘ประสบการณ์’ นั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา  ผมคิดว่าคุณจะพูดว่าพระธาตุที่เสด็จลอยไปในอากาศตามที่ปรากฏในจารึกสุโขทัย (หรือจักรแก้วในไตรภูมิฯ ก็ตาม) นั้น ล้วนเป็นจริงแก่คนในสมัยนั้นอย่างมากก็ได้ นี่ผมเพียงแต่คิดไปเท่านั้น ผมคิดว่าคุณต้องทำความจริงของคุณนั้นมีเงื่อนไขของกาละและเทศะด้วย” (เน้นโดยผู้เขียน)

อาจารย์เครกมองว่าประสบการณ์ของคนในอดีตย่อมมีความแตกต่างจากประสบการณ์ของคนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นมุมมองกระแสหลักของนักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาระบบความคิดของมนุษย์  อาจพูดได้อีกอย่างว่าประสบการณ์ของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกาละและเทศะ (หรือบริบทที่แวดล้อมตัวมนุษย์)  ดังนั้นการที่อาจารย์นิธิกล่าวว่าความจริงของผู้แต่งนางนพมาศฯ และเราในปัจจุบันนั้นอยู่ใกล้กัน เพราะล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 จับได้นั้น ตามมุมมองของอาจารย์เครกแล้ว มันเป็นเพียงการหลงตัวเองของคนสมัยใหม่ เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับอยู่ลึกๆ ว่าความคิดของคนสมัยใหม่มีความถูกต้องกว่าของคนไทยในอดีต

นอกจากนี้ผมยังเห็นอีกว่าอาจารย์นิธิกำลังใช้กรอบวิธีคิดของคนไทยยุคปัจจุบันไปครอบวิธีคิดของคนไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (อันมีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวคิดของโอเบอร์สเกียร์ ที่ใช้กรอบความคิดแบบตะวันตกไปครอบวิธีคิดของคนในวัฒนธรรมอื่นตามที่ได้อธิบายไปแล้วในบทความก่อนๆ) เห็นได้จากการที่อาจารย์นิธิเสนอว่าความจริงของผู้แต่งนางนพมาศฯ และเราในปัจจุบันนั้นอยู่ใกล้กัน คือไม่มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเสนอว่าผู้แต่งหนังสือนางนพมาศฯ มีวิธีคิดที่ไม่แตกต่างจากคนยุคเราในปัจจุบัน” (พิพัฒน์ พสุธารชาติ : ออนไลน์) และ อ่านฉบัยเต็มได้ในนิตยสาร วิภาษา เมื่อ 18 กันยายน 2012

 

ความเห็นของผมเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้

                เมื่อได้เริ่มอ่านหนังสือปากไก่ใบเรืออย่างจริงจังแม้จะเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่อย่างไรก็ก็ตามในขณะอ่านไปก็บังเกิดอารมณ์พรุ่งพร่านทางความคิดผมจึงได้บันทึกความคิดนั้นสื่อสารทางเฟคบุคไปว่า

                อ่านไปหลายหน้าแล้ว ยอมรับว่าเป็นหนังสือวิชาการที่อ่านเพลินและมีข้อโต้แย้งในสมองอยู่บ่อยครั้ง ความรู้สึกชื่นชมและโต้แย้งจากการอ่านหนังสือเล่มนี้คล้ายกับความรู้สึกตอนอ่านสิทธารถะของ เฮอร์มาน  เฮสเสครั้งแรก อ่านปากไก่และใบเรือแล้วเห็นวิธีคิดหรือกรอบความคิดแยกขั้ว ไพร่และมูลนาย(ชนชั้นนำ,อำมาตย์)อย่างชัดเจน วิธีคิดแบบนี้คล้ายกับการอ่านหนังสือปรัชญาเบื้องต้นที่มีการแยกขั้วแนวคิดเป็น สสารนิยม จิตนิยม ธรรมชาตินิยม ยิ่งอ่านยิ่งไม่เห็นพัฒนาการแห่งความแบ่งแยกหรือเกลียดชังในสังคมไทยเพียงแต่เห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง การพยายามแยกขั้วให้เห็นความชิงชังรังเกียจนั้น พยายามหามูลเหตุหรืออารมณ์ในข้อเขียนนี้ยังเห็นไม่ชัดนัก แต่ก็มีประปรายที่ทำให้เห็นเค้ารางว่าจะเชื่อมโยงหรือดึงเข้าหาให้เห็นความชิงชังรังเกียจระหว่างชนชั้นอยู่บ้าง แต่หนังสือเล่มนี้ก็เห็นชัดว่า เป็นการอธิบายคล้ายสายตาคนนอกอย่างนักวิชาการฝรั่งเสียมากกว่า จึงเห็นข้อโต้แย้งในใจของผู้อ่านที่เป็นกึ่งคนในอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้จะเห็นได้ชัดว่า การอธิบายสังคมไทยโดยใช้หนังสือวรรณกรรมแล้วอธิบายว่าสังคมไทยแบ่งแยกหรือชนชั้นนำเป็นผู้ครอบงำก็คงพูดได้ยากว่ามีเฉพาะในอดีตอย่างกษัตริย์และชนชั้น เพราะในปัจจุบันองค์ความรู้หรือความเจริญต่างๆก็มาจากชนชั้นนำทางการศึกษาที่มีโอกาสทางการเงินและอำนาจไปศึกษาต่างประเทศแล้วผูกขาดความคิดว่าตนเองคือเจ้าของความรู้ที่ลอกเรียนมาจากฝรั่งและครอบงำระบบคิดด้วยภาษาฝรั่ง เราจะมาโทษอดีตที่ครอบงำด้วยภาษาบาลีสันสกฤตและกรอบคิดทางศาสนาได้อย่างไรกัน บางครั้งอ่านแล้วก็เห็นชัดว่า มีการตีความแบบลากข้างโดยไม่อ้างอิงบริบทสังคมยุคนั้นสมัยนั้นๆจริงๆหรือตีความโดยใช้ความคิดความเห็นหรือมองจากมุมของตนเป็นหลักอยู่มากเช่นกัน อ่านไปๆก็ มีข้อถกได้อีกมาก แต่ยอมรับว่าอ่านแล้วสรุปว่าเป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง

นายทุน – ลูกจ้าง ผู้นำทางการเมือง-ประชาชน ผู้มีการศึกษา - คนไร้การศึกษา คนใน-คนนอก หนังสือส่วนใหญ่พิมพ์ในกรุงเทพ หนังสือของชาวบ้านต่างจังหวัดหายาก วรรณกรรมเจ้า วรรณกรรมไพร่ วรรณกรรมวัด แยกเพื่อ..... กินข้าวเหนียว กินข้าวเจ้า กินขนมปัง แยกเพื่อ.....หาความมายหรือไร้ความหมาย ใครเป็นผู้ให้ความหมาย เทวนิยม เอกเทวนิยม ทวิเทวนิยม พหุเทวนิยม เอกนิยม อเทวนิยม พหุนิยมทางศาสนา พหุนิยมทางวัฒนธรรม บูรณาการ องค์รวม

 

ส่องมองหนังสือเชื่อมโยง

                เมื่อได้อ่านหนังสือปากไก่ใบเรือแล้วทำให้ผมหวนคิดอยากอ่านหนังสือขึ้นมาสองเล่มคือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย และหนังสือไตรภูมิพระร่วง อิทธิพลต่อสังคมไทย

 

                เหตุที่ทำให้ผมอยากหวนคืนไปอ่านหนังสือไตรภูมิพระร่วง ใหม่อีกครั้งก็เพราะผมฝังใจกับการประเมินค่าและตีตราของนักวิชาการบางคนบางกลุ่มต่อหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำชื่นชมและคำวิพากษ์ก็มาจากแนวคิดคล้ายกับนิธิ  เอี่ยวศรีวงศ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งการตรีตราต่อหนังสือไตรภูมิพระร่วงของนักวิชาการบางคนนั้นลดคุณค่าของหนังสือไตรภูมิพระร่วงลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งๆที่หนังสือไตรภูมิพระร่วงหากเปรียบเทียบกับหนังสือปากไก่แลใบเรือนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายด้านทั้งด้านการค้นคว้า การเรียบเรียง ความรอบรู้ของผู้เขียน การประเมินค่าและการนำเสนอที่มีอิทธิพลต่อระบบความคิดของคนในยุคสมัยนั้นอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง หากใครมีวิริยะเพียงพอลองเปรียบเทียบหนังสือสองเล่มนี้ดูน่าสนใจว่าเราอาจพบคุณค่าใหม่ทางวิชาการที่น่าสนใจยิ่งก็เป็นได้ ส่วนหนังสือไตรภูมพระร่วงอิทธิพลต่อสังคมไทย ของพระธรรมปิฏก(ป.อ.  ปยุตโต) นั้นผมสนใจอยากรู้ว่าหนังสือไตรภูมิพระร่วงเมื่ออ่านโดยนักศาสนา นักประวัติศาสตร์หรือนักศาสตร์อื่นๆจะมองหนังสือไตรภูมิพระร่วงต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ตามเมื่อได้อ่านความคิดเห็นของพระธรรมปิฎกแล้วเห็นว่าท่านมองต่างกันมากทีเดียวกับนักประวัติศาสตร์ นี่อาจเป็นข้อสรุปได้ว่า เห็นเช่นไรก็คิดไปเช่นนั้นนั้นเอง

                ในที่นี้ผมจะลองสำรวจเบื้องต้นต่อความเห็นที่มีต่อหนังสือไตรภูมิพระร่วงเพื่อให้เห็นว่าการประเมินคุณค่าและการตรีตราหนังสือด้วยคำเพียงไม่กี่คำนั้นมีผลต่อหนังสือเล่มนั้นอย่างไรเช่น

                ประสิทธิ์  ศรีสมุทร(2546,หน้า 12) กล่าวว่า “ไตรภูมิพระร่วงจัดเป็นวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเรื่องแรกที่แต่งขึ้นในประเทศไทยซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนธรรมโดยตรงเขียนขึ้นโดยการค้นคว้ารวบรวมจากคัมภีร์ต่างๆ ในพระพุทธศาสนาไม่น้อยกว่า 30 คัมภีร์ เป็นการสั่งสอนให้ผู้ที่ทำบุญจะได้ขึ้นสวรรค์ และผู้ทำบาปจะตกนรกซึ่งมีอิทธิพลเหนือจิตใจคนไทยมาช้านาน”

สุชาติ  หงษา(2549,หน้า 17-18)กล่าวว่า “ไตรภูมิพระร่วงนี้มีส่วนและมีอิทธิพลในการเสริมสร้างความรู้และปลูกฝังหล่อหลอมคุณธรรมไว้ในจิตใจเป็นมูลฐานและเป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นชาวไทยรุ่นต่อมามีศรัทธาเจริญรอยตามบรรพชนไทยซึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์สร้างคุณความดีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข...มิใช่ความเก่าแก่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งอื่นๆ นับตั้งแต่ภาษา สำนวน ตลอดจนปรัชญาความนึกคิด ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นสรรพความรู้หลายสาขาผสมผสานอยู่ล้วนเป็นของเก่าแก่โบราณทั้งสิ้น”

                ปรีชา  ช้างขวัญยืน(2542, หน้า 186และ189) กล่าวว่า “ธรรมราชาในไตรภูมิพระร่วงก็คือธรรมราชาตามความหมายอย่างพุทธ ซึ่งมีเนื้อความบางส่วนที่ซ้ำกับคัมภีร์ฝ่ายพราหมณ์ได้ และพระเจ้าลิไทก็คงทรงปฏิบัติตามธรรมเหล่านั้...การที่พระยาลิไททรงบรรยายเรื่องธรรมราชาโดยอาศัยคัมภีร์ต่างๆดังกล่าวแล้วย่อมแสดงว่าพระองค์ทรงมีแนวคิดที่ชัดเจนในเรื่องนี้และคงจะใช้ในการปกครองด้วย จึงได้ทรงมีพระเกียรติร่ำลือปรากฎในคัมภีร์รุ่นหลัง...”

                ศักดิ์ศรี   แย้มนัดดา(2543,หน้า 53) กล่าวว่า “หนังสือไตรภูมิกถานับว่าเป็นวรรณคดีคำสอนยุคแรกในประเทศไทยเป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการปกครองสมัยโบราณ เพราะทำให้คนเกรงกลัวในบาปและโน้มน้าวให้เห็นผลของการทำความดี”

                ชลธิชา  กลัดอยู่ กล่าวว่า “พระมหาธรรมราชาลิไททรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง...ใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ทรงผนวช 2 ครั้งและทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถา...เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่อาณาจักรสุโขทัยและเพื่อทอนอำนาจกรุงศรีอยุธยา..ไตรภูมิพระร่วงมีบทบาทต่อการปกครองราชอาณาจักร เรื่องนรกมีผลทำนองเป็นบทบาทกำหนดโทษแก่ผู้ทำผิด มีบทบาทต่อการเสริมสร้างราชอำนาจตามคติ พราหมณ์ผนวกความเชื่อทางพุทธศาสนา พระมหาธรรมราชาลิไททรงสถาปนาพระองค์เป็นธรรมราชา การกล่าวถึงกำเนิดจักรพรรดิว่า มีบุญบารมีเหนือสามัญชนย่อมทำให้ประชาชนกลัวเกรงถึงจักรแก้วก็มีบทบาทต่อการขยายอาณาเขตของพระองค์ด้วย” (อ้างในพิชิต  อัคนิจ, 2536, หน้า 65และ 52)

                การสรุปความคิดของแต่ละคนที่มีต่อหนังสือไตรภูมิพระร่วงจะเห็นได้ว่าสรุปไปตามมุมมองของตนคือตัวมีมองมองตั้งไว้อย่างไรก็ลากจูงชี้นำไปในทางนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ผมจึงเห็นว่าการอ่านหนังสือของนักศาสนากับนักศาสตร์อื่นนั้นมีความต่างกันและอาจไม่ตรงกับความคิดของผู้แต่งที่ตั้งความมุ่งหมายไว้นั่นหมายความว่าผู้อ่านรู้เหนือเลยเจตนาของผู้เขียนนั่นเอง ซึ่งไตรภูมิพระร่วงนี้พระมหาธรรมราชาลิไทแจ้งจุดมุ่งหมายในการแต่งไว้อย่างแจ้งชัดว่า “ไตรภูมิกถา นี้มูนใส่เพื่อใดสิ้น ? ใส่เพื่ออรรถอภิธรรม แลใคร่เทศนาแก่พระมารดาท่านอันหนึ่ง เพื่อจำเริญพระธรรมโสด” (King Lithai, 1987 : 6) นั่นหมายความว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อ อธิบายอภิธรรม ต้องการเทศนาแก่พระมารดาและแสดงธรรมแก่คนทั่วไปนั่นเอง เมื่อได้อ่านหนังสือไตรภูมฺพระร่วงอิทธิพลต่อสังคมไทยของพระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต)กลับไม่พบว่าท่านเห่นว่าพระมหาธรรมราชาลิไทต้องการแต่งไตรภูมิพระร่วงเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมืองเลย แต่พบว่าเป็นการอธิบายพระพุทธศาสนาให้คนทุกระดับชั้นเข้าใจและที่สุดคือต้องการให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดแห่งพุทธศาสนาคือภูมิ 4 ที่เรียกว่าโลกุตรภมิหรือนิพานนั้นเอง ไตรภูมิพระร่วงจึงมีองค์ความรู้ทุกด้านที่ลุ่มลึกว้างขวางอย่างยิ่ง ยากที่มหาปราชญ์ท่านใดจะทำได้เสมอเหมือนนับแต่กรุงสุโขทัยจนถึงยุคปัจจุบัน การอ่านวรรณกรรมจึงควรอ่านอย่างหลุดกรอบคติในใจตนไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นทำลายคุณค่าวรรณกรรมไปโดยไม่ตั้งใจ

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

นิธิ  เอียวศรีวงศ์(2543), ปากไก่และใบเรือ, กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์

ประสิทธิ์  ศรีสมุทร(2546), วรรณคดีเกี่ยวกับพุทธศาสนา, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงแก้ว

ปรีชา   ช้างขวัญยืน(2542), ธรรมรัฐ-ธรรมราชา, กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระธรรมปิฎก(ป.อ.  ปยุตโต)(2543), ไตรภูมิพระร่วงอิทธิพลต่อสังคมไทย, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง

พิชิต   อัคนิจ(2536), วรรณกรรมไทยสมัยสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์

สุชาติ  หงษา(2549), วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในประเทศไทย, กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์

King  Lithai(1987) , ไตรภูมิกถา TRAIBHUMIKATHA, Bangkok : Amarin Printing Group.

 

เกษียร เตชะพีระ : อ่านปากไก่และใบเรือ ท่ามกลางสงครามความเป็นไทย http://www.siamintelligence.com/pen-and-sail-within-thainess-war/ 25 มกราคม 2556

พิพัฒน์ พสุธารชาติ“อ่านและตั้งคำถามกับปากไก่และใบเรือ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (9) ” นิตยสาร วิภาษา เมื่อ 18 กันยายน 2012  http://www.facebook.com/note.php?note_id=10151169749083493

25  มกราคม 2556

โครงการสัมมนาวิชาการเปิดตัวหนังสือ ปากไก่และใบเรือ ว่าด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ วรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์http://www.youtube.com/watch?v=uT7xoZQSVEY 25  มกราคม 2556